พิพิธภัณฑ์เปิดอังคาร - อาทิตย์ และทุกวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 น. - 17.00 น.

Remember U-194

อุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งไปหลายองศาของทะเลบอลติก เมื่อมกราคม 2550 ผู้คนคณะหนึ่งได้พยายามนำเรือดำน้ำโซเวียตยุคสงครามเย็นมายังประเทศไทย

เรือดำน้ำนั้นชื่อว่า U-194 อายุ 40 ปี เปลี่ยนชื่อมาจากเรือดำน้ำใน Projektu 613 ของกองทัพเรือสหภาพโซเวียตที่ผลิตตามคำสั่ง “โจเซฟ สตาลิน” เมื่ออาณาจักรหมีขาวล่มสลายลงในต้นทศวรรษ 1990 เรือดำน้ำลำนี้ได้ไปอยู่ในครอบครองของนักสะสมชาวฟินแลนด์นาม “ติโม วัลลิน” เขาถอดตอร์ปิโดออกและจัดการดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์เรือดำน้ำ จอดแสดงและให้คนเข้าชมในตัวเรือตามชายฝั่งของดินแดนสแกนดิเนเวียเป็นเวลาราว 15 ปี ถึงคราวลาน้ำเค็มของทะเลบอลติกไปอาศัยน้ำจืดในแม่น้ำของสยามประเทศ

คุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ ต้องการเติมเต็มความเป็นพิพิธภัณฑ์ยานพาหนะของ Jesada Technik Museum ด้วยการหาเรือดำน้ำมาประจำการ ได้ติดต่อขอซื้อและนำไปซ่อมที่อู่ต่อเรือในเมืองเซสชิน ประเทศโปแลนด์ ก่อนที่จะติดต่อบริษัทลากเรือเพื่อลาก U-194 กลับประเทศไทย แต่การณ์ชักแปลก ๆ เมื่อเรือลากที่วาดหวังเป็นเพียงเรือล่าปลาวาฬลำเล็ก ๆ อายุ 80 ปี และนี่คือภารกิจสุดท้าย

เหตุการณ์ถูกปล่อยเลยตามเลยเพราะฤกษ์งามยามดียามร้ายได้ล่วงเลยมานานแล้ว วันที่ 22 มกราคม 2550 วันเริ่มต้นของจุดจบก็มาถึง เรือลาก 2 ลำ ประคองเรือดำน้ำแบบหัว – ท้าย ออกจากอู่ต่อเรือ สู่ปากอ่าวทะเลบอลติก ทว่าเพียงค่ำของวันที่ 23 มกราคมเมื่อเรือมาถึงบริเวณช่องแคบโอเรซุนด์ (ระหว่างโคเปนฮาเกนของเดนมาร์กและมัลโมของสวีเดน) เรือดำน้ำได้หายไป เพราะเชือกที่ผูกโยงไว้ได้เข้าไปพันกับใบพัดเรือลากจนขาด ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาแม่นาง U-194 ชนเข้ากับเรือลากอย่างจังเสียงดังโครมใหญ่ กะลาสีชาวอินโดหมายจะกระโดดลงทะเลคว้าเชือกที่ติดกับเรือดำน้ำ หลายคนจับตัวอินโดนคนขยันไว้ทัน ไม่อย่างนั้นมีหวังเสียทั้งเรือและกะลาสี สุดท้ายเรือดำน้ำก็กลับมาตามต้อยเรือลากอีกครั้งด้วยการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทะเลแถวนั้น

เมื่อใกล้จะถึงเมืองเฮลซิงบอร์กของสวีเดนและเฮลซิงเงอร์ของเดนมาร์ก (ส่วนที่แคบสุดของช่องแคบโอเรซุนด์)  เครื่องบังคับหางเสืออัตโนมัติเสียทั้งระบบ น้ำมันทะลักขึ้นไปกองอยู่บนห้องควบคุมเรือ กัปตันชาวสวีเดนต้องสั่งช่างมาจากสต็อกโฮล์ม ลอยทะเลไม่ยอมเข้าฝั่งเพราะประหยัดค่าระวางจอดเรือและกลัวว่าช่างจะไม่รีบทำงาน

เรือลากซ่อมเสร็จแล้ว แม้มีพยากรณ์อากาศว่ามีพายุลมแรงในทะเลเหนือ ควรจะรออีกสี่ห้าวัน แต่กัปตันไม่ฟังเสียง บอกว่าเสียเวลามานานแล้ว ออกเรือไปพร้อมกับอาการหวั่นวิตกกลัวตายของพวกเราลูกเรือชาวไทย การเผชิญคลื่นลมเฉลี่ยระดับ 5 เมตรอยู่สามสี่วัน นอกจากอาเจียนพุ่งไม่หยุดหย่อนแล้ว เช้าตรู่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ เรือดำน้ำก็มาจมลงสู่ก้นทะเลเหนือ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเดนมาร์ก กัปตันสั่งตัดเชือกทันเวลาก่อนที่เรือดำน้ำจะดึงเรือลากลงไปเป็นเพื่อน

U-194 จึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ทางทะเลของ Jesada Technik Museum ที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทยนับแต่บัดนั้น

Post a comment